ฮีตเตอร์เทอร์บูล่า
ฮีตเตอร์เทอร์บูล่า
เป็นฮีตเตอร์ที่ประกอบไปด้วยท่อฮีตเตอร์, ลวดฮีตเตอร์ และผงแมกนีเซียมออกไซด์ วัสดุที่นำมาทำท่อฮีตเตอร์เทอร์บูล่าสามารถเลือกได้หลายชนิด เช่น สเตนเลส 304, สเตนเลส 316, ทองแดง, อินโคลอย, ไทเทเนี่ยม เป็นต้น ขึ้นอยู่กับการนำฮีตเตอร์ไปใช้งานว่าเหมาะกับท่อชนิดใด โดยทั่วไปมักจะทำจาก สเตนเลส โดยมีหลายขนาดให้เลือก เช่น 8mm, 11mm, 12mm ,14mm, 16mm เป็นต้น
ภายในของท่อฮีตเตอร์จะมีลวดฮีตเตอร์ที่ถูกออกแบบให้ขดเป็นสปริงอยู่ตรงกลางของท่อฮีตเตอร์ โดยที่ขนาดความโตของลวดฮีตเตอร์จะสัมพันธ์กับค่าความต้านทานที่คำนวณได้ (มาจากวัตต์และโวลท์ที่ต้องการใช้งาน)
จากนั้นจะมีการบรรจุผงแมกนีเซียมออกไซด์เข้าไปในท่อฮีตเตอร์เพื่อทำหน้าที่เป็นฉนวนไฟฟ้าประคองลวดฮีตเตอร์ที่อยู่ภายในไม่ให้มาโดนท่อและมีคุณสมบัตินำความร้อนจากลวดฮีตเตอร์ไปยังท่อฮีตเตอร์ได้ดีอีกด้วย
การผลิตฮีตเตอร์ความยาวสูงสุดจะขึ้นอยู่กับความยาวของท่อที่ผลิต ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิน 6 เมตร เพราะถ้ายาวมากกว่านี้บางครั้งต้องมีการเชื่อมท่อและต้องอาศัยความชำนาญในการผลิต ฮีตเตอร์เทอร์บูล่าสามารถดัดได้หลายรูปแบบตามความต้องการต่อการนำไปใช้งาน เช่น ดัดเป็นวงกลม เป็นก้นหอย เป็นรูปตัวยู เป็นแบบตัวเอ็ม และอื่นๆ
การนำฮีตเตอร์เทอร์บูล่าไปใช้งานและข้อควรระวัง
ฮีตเตอร์เทอร์บูล่าสามารถให้ความร้อนกับอากาศได้แต่ในการใช้งานควรจะต้องเลือกหรือออกแบบให้มีค่าความร้อนผิว (SL) ที่เหมาะสมเพื่อให้อายุการใช้งานของฮีตเตอร์ยาวนานขึ้น เช่น ใช้ในเตาอบ ใช้กับเครื่องปิ้งย่าง เป็นต้น
ใช้ในงานให้ความร้อนกับน้ำมัน เช่น เครื่องทอด ต้องมีการออกแบบให้ช่วงไม่ทำความร้อนที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ฮีตเตอร์ให้ความร้อนกับอากาศ ค่าความร้อนผิวที่ใช้ควรจะเหมาะสมเช่นกัน และที่สำคัญตัวฮีตเตอร์ควรจะผลิตจากท่อสเตนเลส 316 เป็นต้น
ในการใช้งานให้ความร้อนกับน้ำทั่วไปหรือของเหลว ระดับน้ำต้องท่วมตัวฮีตเตอร์ตลอดเวลาขณะจ่ายไฟฟ้าให้กับฮีตเตอร์เพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อนที่ไม่สม่ำเสมอกับตัวฮีตเตอร์ซึ่งอาจทำให้เกิดความดันภายในท่อฮีตเตอร์เป็นสาเหตุให้ฮีตเตอร์แตกได้ ที่สำคัญคือการเลือกชนิดของวัสดุท่อต้องเหมาะสมกับของเหลวที่ใช้งานเพื่อป้องกันการกัดกร่อนอันเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายกับตัวท่อฮีตเตอร์ได้